ผู้ติดตาม

วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ควรยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่

ควรยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ ? (บทความพิเศษ)

การยกเลิกมาตรา 112 มีผลทำให้ประมุขของรัฐซึ่งถูกจำกัดสิทธิที่จะคุ้มครองตนเองโดยฐานะของตนในทางพฤตินัยไม่ได้รับความคุ้มครองและเสียสิทธิที่จะปกป้องตนเองในทางนิตินัยไปพร้อมกันด้วย
ผู้เขียนเป็นนักเรียนโรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย รุ่นแรก จบกฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยรับราชการเป็นผู้พิพากษาและเป็นอาจารย์พิเศษสอนในมหาวิทยาลัย ปัจจุบันยังคงทำงานด้านกฎหมายอยู่ ผู้เขียนเคยได้รับทุนฟูลไบรท์ไปศึกษาวิชากฎหมายที่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งถือเป็นประเทศประชา ธิปไตยเต็มรูปแบบของโลก เนื่องจากขณะนี้มีปัญหาถกเถียงกันอยู่ว่าประเทศไทยควรจะมีกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ ? ซึ่งผู้เขียนขอแสดงความเห็นในด้านกฎหมายเพื่อประกอบการพิจารณาของท่านทั้งหลายไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. ประเทศไทยกำหนดห้ามหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และห้ามหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาไว้ในมาตรา 326 ความว่า
 " มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี "
 " มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ "
ข้อแตกต่างของความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์กับบุคคลธรรมดาประการแรกก็คือ มาตรา 112 เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ซึ่งหมายความว่ารัฐเป็นผู้เสียหายและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องดำเนินการกับผู้กระทำความผิด ส่วนมาตรา 326 เป็นความผิดอันยอมความได้หรือความผิดต่อส่วนตัวซึ่งถ้าไม่มีผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าหน้าที่รัฐก็จะไม่ดำเนินคดีให้ เหตุที่บัญญัติไว้แตกต่างกันเช่นนี้เพราะไม่มีประเทศใดในโลกที่ประมุขของรัฐจะไปฟ้องร้องกล่าวโทษพลเมืองของตนเอง หากยกเลิกมาตรา 112 ก็เท่ากับเป็นการจำกัดสิทธิประมุขแห่งรัฐไม่ให้สามารถคุ้มครองตนเองจากการถูกหมิ่นประมาทได้
ยิ่งกว่านั้นการ " หมิ่นประมาท " หมายความว่า ใส่ความโดยไม่เป็นความจริงในลักษณะที่ทำให้ผู้ได้ยินได้ฟังเกลียดชังผู้ถูกใส่ความซึ่งเป็นการกระทำอันชั่วร้ายผิดศีลธรรม การยกเลิกมาตรา 112 มีผลทำให้ประมุขของรัฐซึ่งถูกจำกัดสิทธิที่จะคุ้มครองตนเองโดยฐานะของตนในทางพฤตินัยไม่ได้รับความคุ้มครองและเสียสิทธิที่จะปกป้องตนเองในทางนิตินัยไปพร้อมกันด้วย
ข้อ 2.กฎหมายอาญาของไทยเป็นกฎหมายที่มีความเป็นสากล กล่าวคือ ให้ความคุ้มครองประมุขของรัฐต่างประเทศและผู้แทนของรัฐต่างประเทศด้วยดังจะเห็นได้จากมาตรา 133 และ มาตรา 134 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า
" มาตรา 133 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท หรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปีหรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ "
" มาตรา 134 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายผู้แทนรัฐต่างประเทศซึ่งได้รับแต่งตั้งให้มาสู่พระราชสำนัก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปีหรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ "
ถ้ายกเลิกมาตรา 112 ผลตามกฎหมายก็คือ ประเทศไทยให้ความคุ้มครองประมุขแห่งรัฐต่างประเทศแต่ไม่คุ้มครองประมุขของตนเองซึ่งเป็นเรื่องผิดวิสัยของอารยประเทศอย่างยิ่ง หากจะยกเลิกมาตรา 133 และมาตรา 134 ไปพร้อมกับมาตรา 112 ผลก็คือประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศป่าเถื่อนในสายตาสังคมโลกและไม่มีประเทศที่เจริญแล้วประเทศใดในโลกคบค้าสมาคมด้วย เพราะไม่ให้เกียรติแก่ประมุขของเขาซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศสูงสุดของประเทศเหล่านั้น
ข้อ 3. ในสังคมระหว่างประเทศมีหลักในการอยู่ร่วมกันข้อหนึ่งคือหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติโดยเท่าเทียมกัน ( Reciprocity ) กฎหมายของประเทศที่เจริญแล้วในโลกไม่ว่าจะมีประมุขเป็นพระมหากษัตริย์ หรือประธานาธิบดี หรือเรียกชื่ออื่นใดก็ตาม ย่อมถือว่าประมุขของประเทศใดเป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ของประเทศนั้น แต่ละประเทศจะให้ความคุ้มครองสูงสุดแก่ประมุขของตนและให้ความคุ้มครองแก่ประมุขของประเทศอื่น เพื่อประเทศอื่นจะได้ให้ความคุ้มครองแก่ประมุขของตนเองด้วยแล้ว ย่อมมีผลทำให้ประเทศไทยต่ำต้อยกว่าประเทศอื่นใดในสายตาชาวโลก
ข้อ 4. ประมุขของประเทศใดก็ตามย่อมถือเป็นเกียรติยศสูงสุดของประเทศนั้นหากประมุขของประเทศใดไร้เกียรติพลเมืองของประเทศนั้นย่อมต่ำต้อยไร้ค่ากว่าพลเมืองของประเทศอื่นในโลก ถ้าคนไทยยังรักที่จะเป็นคนที่มีเกียรติก็จะต้องรักษาเกียรติยศแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของประเทศไว้สูงสุดจึงจะทำให้คนไทยมีเกียรติเหมือนพลเมืองชาติอื่นในโลก
ข้อ 5. ประมุขของแต่ละประเทศทั้งที่ได้รับการเลือกตั้งหรือโดยการแต่งตั้งล้วนแต่เป็นผู้ที่ถูกคัดเลือกขึ้นเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศ ขวัญและกำลังใจของประเทศนั้นๆ ความภาคภูมิใจของพลเมืองในประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้นก็คือ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขได้รับการคัดเลือกจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ ( Supernatural ) ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าเป็นผู้มีบุญญาธิการและประกอบคุณงามความดีมาก่อน สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติจึงคัดเลือกให้มาเป็นประมุข
การแก้ไขกฎหมายใดๆ โดยไม่ได้ศึกษาถึงผลกระทบทั้งภายในประเทศและในสังคมระหว่างประเทศ รวมทั้งโดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรม
http://www.youtube.com/watch?v=9iyztz3hBQI

สารถึงผู้อ่าน - ข้อเสนอฯ ของนิติราษฏร์ยืนอยู่บนหลักการแห่งกฎหมาย

ภายหลังจากคณะนิติราษฎร์เข้าร่วมงานเปิดตัว "คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112" (ครก. 112) ในวันที่ 15 มกราคม 2555 เพื่ออธิบายรายละเอียดของ ข้อเสนอให้แก้ไขมาตรา 112 เพื่อประโยชน์ต่อการรวบรวมรายชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 ฉบับที่คณะนิติราษฎร์จัดทำขึ้น เข้าสู่รัฐสภา และภายหลังจากที่คณะนิติราษฎร์จัดงาน อภิปราย “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร - นิรโทษกรรม - ปรองดอง” ขึ้นเองในวันที่ 22 มกราคม 2555 เพื่อเสนอรูปแบบองค์กร และกรอบเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้เกิดกระแสเสียงจากสังคมทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย แต่ปรากฎว่าคำวิพากษ์วิจารณ์ของฝ่ายไม่เห็นด้วยจำนวนมาก ไม่ได้ตั้งอยู่บนเนื้อหาและหลักวิชาการ แต่มุ่งโจมตีและกล่าวหาตัวบุคคลโดยไร้เหตุผลและพยานหลักฐาน หลายกรณีมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงและหลักกฎหมาย จนอาจทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อน

คณะนิติราษฏร์ขอแจ้งให้ประชาชนที่เห็นด้วยกับข้อเสนอฯ ทราบและสบายใจว่า ข้อเสนอฯ ทุกข้อเสนอของคณะนิติราษฏร์ เป็นเรื่องที่วางอยู่บนหลักวิชาการและอำนาจตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเสนอให้แก้ไข มาตรา 112 นั้น ไม่ถือเป็นความผิดใด ๆ ทั้งสิ้น มาตรา 112 มีสถานะเป็นเพียงบทบัญญัติแห่งกฎหมายอาญามาตราหนึ่งเท่านั้น จึงย่อมเป็นสิทธิและอำนาจโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ ที่ประชาชนผู้เห็นปัญหาของมาตรานี้จะเข้าชื่อเสนอให้รัฐสภา ซึ่งเป็นเพียงตัวแทนประชาชนเจ้าของอำนาจที่แท้จริง ปรับปรุงแก้ไขเสีย 

http://www.youtube.com/watch?v=o8r0JbBt22c&feature=related

การยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 เป็นเสรีภาพทางวิชาการที่จะได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญจริงหรือ

การแสดงออกของ “กลุ่มนิติราษฎร์” ที่เสนอให้ยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้เกิดแนวโน้มที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้า และความแตกแยกของประชาชนที่ฝ่ายหนึ่งต้องการจะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้พระมหากษัตริย์อยู่ในสถานะเป็นประมุขของประเทศตามวัฒนธรรมประเพณีอันเป็นหลักประกันแห่งความมั่นคงของรัฐโดยเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติให้เป็นหนึ่งเดียว กับอีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่ต้องการให้พระมหากษัตริย์อยู่ในสถานะของการเป็นประมุขของประเทศตามวัฒนธรรม ประเพณีที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติอันเป็นหลักประกันแห่งความมั่นคงของรัฐ โดยจะให้นำมาตรา 112 ออกจากการเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และมีสาเหตุอื่นๆอีกรวม 7 ประการ เมื่อมีแนวโน้มของความแตกแยกที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้าของมวลชนที่จะมีต่อ “กลุ่มนิติราษฎร์” และผู้สนับสนุนกลุ่มนิติราษฎร์ คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ได้ออกประกาศไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัย เพื่อจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวชี้นำมวลชนในเรื่องเกี่ยวกับการเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังจากมีประกาศของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็มีจดหมายถึงอธิการบดีฯ เพื่อให้มหาวิทยาลัยอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในการดำเนินการของกลุ่มนิติราษฎร์ โดยมีข้ออ้างโดยสรุปถึงเสรีภาพในทางวิชาการ เพื่อปฏิรูป-แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ล้าหลังและเป็นมรดกของระบอบอำนาจนิยม และเพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีความมั่นคงอยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตยตามมาตรฐานสากลของนานาอารยประเทศ ฯลฯ (ข่าว ไทยโพสต์ 2 ก.พ.2555 )
       
       ผู้เขียนในฐานะเป็นเลือดเหลือง-แดง ใคร่เสนอข้อคิดเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับคำว่า “เสรีภาพในทางวิชาการ” ว่าจะมีขอบเขตอย่างไร เพราะความคิดเห็นที่แตกแยกไม่เห็นด้วยในทางวิชาการจะไม่ก่อให้เกิดแนวโน้มของการเผชิญหน้า หรือความแตกแยกของประชาชนเป็นฝ่ายอย่างเด็ดขาด เพราะความคิดเห็นในทางวิชาการ จะต้องมีเหตุผลของวัตถุประสงค์ทางหลักวิชาการหรือต้องมีข้อมูล (Information) ที่เป็นวิชาการ อันนำมาสู่การถกเถียง การเสวนาที่มีเหตุผลซึ่งกันและกัน และหาทางสรุปเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมโดยรวมตามเหตุผลวัตถุประสงค์และข้อมูลที่เป็นวิชาการดังกล่าว แต่เหตุผลของวัตถุประสงค์และข้อมูลที่เกิดขึ้นที่นิติราษฎร์นำมาเป็นประเด็นเพื่อยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 นั้น จะเป็นเรื่องของอารมณ์ความชอบหรือความไม่ชอบสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือจะเป็นเรื่องของการกระทำเพื่อประโยชน์ทางการเมือง หรือเป็นเรื่องที่เป็นวิชาการอันก่อให้เกิดเสรีภาพหรือไม่นั้น จำเป็นต้องพิจารณาถึงเหตุผลของวัตถุประสงค์และข้อมูลที่เป็นวิชาการที่นำมาเป็นเหตุที่จะยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ดังกล่าวด้วย
     
       1. เหตุผลของวัตถุประสงค์ของการแก้ไขหรือยกเลิก ม.112 เป็นไปตามหลักวิชาการหรือไม่

       
        เหตุผลของวัตถุประสงค์ที่นิติราษฎร์นำเสนอต่อสาธารณชนนั้น ไม่มีความชัดเจนในทางวิชาการว่าการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 นั้น เป็นการปฏิรูปแก้ไขกฎหมายเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีความมั่นคงยั่งยืนสถาพร เป็นหลักแห่งความมั่นคงของราชอาณาจักรไทยตลอดไปหรือไม่ แต่การแสดงออกต่อสาธารณชนมีแนวโน้มของการไล่ล่าสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สูญสิ้นซึ่งศักดิ์ศรีของความเป็นประมุขที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ สูญสิ้นในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ที่แทบจะไม่มีที่ยืนในผืนแผ่นดินไทย อารมณ์ของประชาชนที่มีความจงรักภักดีในสถาบันพระมหากษัตริย์จึงได้พร้อมใจกันลุกขึ้นมาคัดค้านต่อต้านการกระทำของนิติราษฎร์แทบจะทันทีที่นิติราษฎร์ได้แถลงจุดยืนของนิติราษฎร์ที่จะแก้ไขมาตรา 112 และความต้องการของนิติราษฎร์ที่จะให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในสถานะอย่างไรเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 จึงมีประเด็นว่าในทางวิชาการว่า เป็นการแก้ไขโดยหลักการทางวิชาการของกฎหมายหรือไม่
       
        กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นกฎหมายที่มิได้ห้ามเด็ดขาดมิให้ผู้ใดกระทำ แต่เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อปกป้องคุ้มครองประมุขของรัฐที่มีสถานะเป็นพระมหากษัตริย์และเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ อันอยู่ในสถานะที่มีความเกี่ยวพันทางวัฒนธรรม ประเพณีและความมั่นคงของประเทศ ซึ่งผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไม่ได้ มาตรา 112 เป็นเพียงกฎหมาย ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการดังกล่าวเท่านั้น ( Mala Prohibita ) ดังนั้นผู้ใดจะหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ย่อมกระทำได้ แต่ผู้นั้นก็ต้องรับผิดชอบกับการถูกดำเนินคดี ถูกศาลพิพากษาลงโทษเอง กฎหมายมาตรา 112 จะมีผลกระทบต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นได้กระทำการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ การที่บุคคลใดจะกระทำการดังกล่าวนั้น จะต้องมีการกระทำของบุคคลนั้นเกิดขึ้น โดยบุคคลนั้นจะต้องมีการคิด มีการตกลงใจ และมีการลงมือกระทำตามที่ตกลงใจ การกระทำหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายจึงจะเกิดขึ้น ดังนั้นการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 จึงเป็นการกระทำในทางที่เป็นคุณหรือเกิดประโยชน์แก่ผู้กระทำความผิด ผู้ที่มีความประสงค์ร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร การยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 จึงเป็นการกระทำเพื่อช่วยเหลือผู้ที่กระทำความผิดเพื่อไม่ให้มีความผิด หรือไม่ต้องรับโทษ หรือได้รับโทษน้อยลง และเป็นการกระทำที่ไปสนับสนุนผู้ที่ไม่คิดกระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะการกระทำดังกล่าวไม่มีความผิด หรือมีโทษน้อยลง       
       ในขณะเดียวกันการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ดังกล่าวก็เป็นการกระทำที่มีจุดประสงค์เพื่อทำลาย หรือทำร้ายต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของประเทศและเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ให้มีสถานะความเป็นประมุขของประเทศและสถาบันพระมหากษัตริย์และอยู่ในภาวะที่จะต้องถูกหมิ่นประมาท ถูกดูหมิ่น และถูกอาฆาตมาดร้ายได้ตลอดเวลา
 ซึ่งไม่ต่างกับความคิดที่คิดแบบ “ ย้อนขน” ว่า เมื่อไม่มีกฎหมายก็ไม่มีความผิด ดังนั้น ถ้าไม่ต้องการให้มีคนลักทรัพย์ มีโจรปล้นทรัพย์ ก็ออกกฎหมายมายกเลิกความผิดฐานลักทรัพย์ ฐานปล้นทรัพย์นั้นเสีย เพื่อให้การลักทรัพย์ปล้นทรัพย์กระทำการได้โดยไม่มีความผิด ไม่ต้องรับโทษ เช่นนั้นหรือ ความคิดในการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 จึงเป็นความคิดที่เปรียบเสมือนเป็นการช่วยเหลือคนชั่วให้ทำชั่วได้มากยิ่งขึ้น และย่ามใจที่จะทำชั่วได้สะดวกยิ่งขึ้น และไม่ปกป้องคุ้มครองคนดี ซึ่งมีสถานะเป็นพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของประเทศและเป็นสัญลักษณ์แห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้หมดสภาพการดำรงอยู่ในสถานภาพแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นวิธีการไล่ล่าหรือรุกไล่เพื่อให้พ้นไปจากสถานะความเป็นพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายโดยผู้ที่ประสงค์ร้ายต่อพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์สามารถกระทำได้อย่างกว้างขวางและทำได้อย่างเสรีการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 โดยปราศจากซึ่งเหตุผลของวัตถุประสงค์จึงเป็นความคิดและการกระทำที่ไร้ซึ่งหลักวิชาการทางกฎหมาย ปราศจากซึ่งหลักนิติธรรม นิติรัฐ ขัดต่อหลักศีลธรรม คุณธรรม และปราศจากซึ่งบรรทัดฐานของความรับผิดชอบทางสังคม ( norm of social - responsibility ) เป็นอย่างยิ่ง การยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ดังกล่าวย่อมนำมาซึ่งช่องทางการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นการกระทำที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม
       
        วัตถุประสงค์ของนิติราษฎร์ที่ปรากฏต่อสาธารณชนอีกประการหนึ่งคือ การห้ามบุคคลทั่วไปหรือประชาชนกล่าวโทษผู้ที่กระทำความผิด อันเป็นการเปลี่ยนสถานภาพของความเป็นผู้เสียหายของพระมหากษัตริย์ และของประชาชนที่พบเห็นการกระทำความผิดไม่ให้เป็นผู้เสียหายได้อีกต่อไป โดยพระมหากษัตริย์ไม่อาจเป็นผู้เสียหายได้ทั้งฐานะเป็นบุคคลธรรมดาและในฐานะเป็นพระมหากษัตริย์ เพราะการกระทำความผิดอาญาดังกล่าวไม่ใช่เป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดินอีกต่อไป เพราะจะให้สำนักราชเลขาธิการฯมีอำนาจเป็นผู้กล่าวโทษแทนเท่านั้น เป็นการแก้ไขกฎหมายให้พระมหากษัตริย์และสถาบันไร้ซึ่งศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์มีสถานะต่ำกว่าสามัญชน เพราะสามัญชนยังมีสิทธิในความเป็นผู้เสียหายที่จะร้องทุกข์ กล่าวโทษ แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่นตนเองได้ แต่พระมหากษัตริย์ไม่อาจเป็นผู้เสียหาย แม้จะถูกอาฆาตมาดร้ายเอาชีวิตก็ไม่อาจเป็นผู้เสียหายได้ การจะเป็นผู้เสียหายหรือไม่กลับต้องอยู่ในดุลพินิจของข้าฯในพระองค์คือสำนักราชเลขาธิการฯ แม้ในความเป็นจริงพระมหากษัตริย์อาจไม่ใช้พระราชอำนาจของพระองค์ในการร้องทุกข์กล่าวโทษราษฎรของพระองค์ แต่ประชาชนหรือผู้พบเห็นการกระทำความผิดซึ่งสามารถเป็นผู้เสียหายเพราะเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ซึ่งสามารถแจ้งความดำเนินคดีอาญาได้ ก็ไม่สามารถทำได้ หรือแม้แต่เจ้าพนักงานตำรวจ พนักงานสอบสวนซึ่งมีอำนาจในการดำเนินคดีอาญา เพราะพบเห็นการกระทำความผิดซึ่งหน้าก็ไม่สามารถดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำความผิดได้ การแก้ไขกฎหมายโดยกำหนดให้พระมหากษัตริย์ สถาบันพระมหากษัตริย์ และราชวงศ์จะเป็นผู้เสียหายในการกระทำความผิดอาญาของผู้หมิ่นพระมหากษัตริย์ สถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของสำนักราชเลขาธิการซึ่งเป็นข้าฯในพระองค์เช่นนี้ จึงเป็นการแก้ไขกฎหมายที่ทำให้พระมหากษัตริย์ สถาบันพระมหากษัตริย์ และราชวงศ์ปราศจากซึ่งศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ เป็นการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เกิดช่องทางการดูหมิ่น เหยียดหยามพระมหากษัตริย์ สถาบันพระมหากษัตริย์ และราชวงศ์ได้ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง และทำได้โดยการโฆษณาหรือทางสื่อได้ทุกประเภท อันเป็นการทำให้พระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่มีสถานะของความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ แยกพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากประชาชน โดดเดี่ยวพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ดูเสมือนหนึ่งประชาชนไม่สนใจแยแสในระบอบพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด การแก้ไขมาตรา 112 ดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นการแก้ไขกฎหมายโดยอาศัยหลักการทางวิชาการแต่เป็นการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นการโดดเดี่ยวและเหยียบย่ำพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเข้าข่ายเป็นการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สิ้นไปโดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
       
        และตามหลักการของนิติราษฎร์ที่ประกาศต่อสาธารณะจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีเนื้อหาสรุปได้ในทำนองว่า ไม่ให้พระมหากษัตริย์มีพระราชดำรัสในที่สาธารณะหรือต่อประชาชน หรือต้องสาบานตนต่อรัฐสภาก่อนเข้ารับตำแหน่งนั้น ก็ยิ่งเป็นการชี้ให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ของนิติราษฎร์ได้ว่า คณะนิติราษฎร์ต้องการให้การดำรงอยู่ซึ่งความเป็นพระมหากษัตริย์ต้องอยู่อย่างไร้ศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ ไม่มีสิทธิและเสรีภาพในการพูด การแสดงความคิดเห็น หรือการสื่อต่อประชาชนของพระองค์ คือจะมีพระราชดำรัสในที่สาธารณะไม่ได้ หรือกล่าวง่ายๆก็คือจะพูดหรือแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชนหรือในที่สาธารณะไม่ได้ และพระมหากษัตริย์ต้องสาบานต่อรัฐสภาซึ่งหมายถึงพระมหากษัตริย์ต้องแสดงความจงรักภักดีต่อนักการเมือง โดยต้องสาบานตนต่อหน้านักการเมืองด้วยนั้น สถานภาพของพระมหากษัตริย์หรือสถาบันพระมหากษัตริย์จึงมีสถานภาพที่ไร้ศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์อย่างยิ่ง ไร้ซึ่งสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างยิ่ง เพราะเป็นผู้ถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ คือ มีพระราชดำรัสในที่สาธารณะไม่ได้ และอยู่ในสถานะที่ต่ำกว่าผู้แทนของประชาชนคือ นักการเมือง การกระทำดังกล่าวส่อให้เห็นวัตถุประสงค์ของการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ นั่นเอง
     
       2. ข้อมูล ( Information ) ที่ยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 เป็นข้อมูลที่เป็นหลักวิชาการหรือไม่

       
        สำหรับข้อมูลทางวิชาการที่ขอยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 นิติราษฎร์ ไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ต่อสาธารณชนแต่อย่างใด แต่จะปรากฏข้อมูลที่เป็นปัจจัยที่ทำให้สาธารณชนในระดับวิญญูชนเห็นได้ว่า การขอแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ก็คือ การที่มีคนเสื้อแดงหรือ น.ป.ช. ได้กระทำความผิดในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจำนวนมาก ซึ่งได้เกิดขึ้นระหว่างที่มีการชุมนุมของคนเสื้อแดง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ผลจากการที่มีการชุมนุมได้มีการกระทำอันเป็นการจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์จนเกิดเป็นคดีจำนวนมาก ผู้นำ น.ป.ช.ได้กล่าวอ้างในที่สาธารณะในทำนองว่านิติราษฎร์เป็นแขนข้างหนึ่งของน.ป.ช. มวลชนคนเสื้อแดงเป็นแขนอีกข้างหนึ่งของน.ป.ช. กับมีการกระทำของพรรครัฐบาลที่ได้ช่วยเหลือคนเสื้อแดงที่ถูกดำเนินคดีโดยการจัดสถานที่ให้อยู่ใหม่โดยไม่ต้องคุมขังในคุกเช่นผู้กระทำความผิดโดยทั่วไป แต่แยกมาใช้สถานที่ราชการ โดยมีการตกแต่งดัดแปลงสถานที่ราชการนั้นให้เป็นที่พำนักแห่งใหม่ โดยอ้างว่าเป็นคดีทางการเมืองซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงแก่สาธารณชนโดยทั่วไป ทั้งรัฐบาลได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้ช่วยเหลือคนเสื้อแดงที่ตายและบาดเจ็บในระหว่างการชุมนุมและในระหว่างที่ถูกคุมขังโดยได้สั่งจ่ายเงินหลวง ซึ่งเป็นภาษีอากรของประชาชนไปเป็นเงินจำนวนมาก โดยมิได้มีการกล่าวถึงการกระทำของคนเสื้อแดงที่ได้กระทำในช่วงเวลาดังกล่าวเลยว่าได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดในข้อหาใดบ้าง และจะต้องดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านั้นหรือไม่อย่างไร กับไม่ต้องรอผลของการดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านั้นให้เสร็จสิ้นเสียก่อนแต่อย่างใดเลย กับมีข้อมูลที่เกี่ยวกับคดี “ อากง” ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญาในหมู่ของคนเสื้อแดงด้วยเช่นกัน การขอยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ของนิติราษฎร์ จึงไม่ปรากฏว่ามีข้อมูลทางวิชาการที่เป็นแกนหลักของการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 นอกจากข้อเท็จจริงที่เป็นข้อมูลของการกระทำความผิดของคนเสื้อแดง หรือ น.ป.ช. ดังกล่าว ซึ่งก็มีนักการเมืองของพรรคที่เป็นรัฐบาลร่วมดำเนินการอยู่ในคนเสื้อแดงและน.ป.ช.ด้วย การขอยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 จึงเป็นการยกเลิกหรือแก้ไขเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้เป็นผู้ไม่มีความผิด ไม่ต้องรับโทษ หรือได้รับโทษน้อยลง ( ขึ้นอยู่กับจะมีการยกเลิก หรือการแก้ไขกฎหมายว่าจะแก้ไขอย่างไร ) การยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 จึงเป็นการกระทำที่ส่อไปในทางช่วยเหลือผู้กระทำความผิดทางอาญา จึงเป็นการยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายโดยปราศจากซึ่งพื้นฐานทางวิชาการที่จะยกเลิกหรือแก้ไขได้ ขัดต่อหลักนิติรัฐ ขัดต่อหลักศีลธรรมและคุณธรรม ขัดต่อจรรยาบรรณของวิชาการทางกฎหมาย
     
        การแก้ไขมาตรา 112 โดยปราศจากหลักการทางวิชาการ ทั้งทางวัตถุประสงค์และข้อมูลของการแก้ไข การนำประเด็นปัญหาการยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายดังกล่าวมาสู่เวทีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทำให้ดูเสมือนหนึ่งเป็นการเสวนาทางวิชาการนั้น หาอาจทำให้การเสวนาการแก้ไขมาตรา 112 บนเวทีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นเป็นการเสวนาทางวิชาการแต่อย่างใดไม่ การเสวนาที่ปราศจากซึ่งหลักวิชาการแต่กลับมีวัตถุประสงค์และข้อมูลที่ส่อให้เห็นว่าเป็นการช่วยเหลือผู้ที่กระทำความผิดไม่ให้มีความผิด ไม่ต้องรับโทษหรือได้รับโทษน้อยลง และมีแนวโน้มมุ่งทำลายสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของพระมหากษัตริย์ และประชาชนที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงมิใช่เป็นเสรีภาพในทางวิชาการและไม่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 50 และไม่ใช่เป็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 แต่เป็นเสรีภาพที่จะต้องถูกกำจัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและการกระทำนั้นเสีย เพราะการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 เป็นปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ และการแสดงความคิดเห็นและการกระทำของนิติราษฎร์และพวกดังกล่าว เป็นการละเมิดต่อสิทธิ เสรีภาพของพระมหากษัตริย์ ในฐานะที่พระมหากษัตริย์เป็นมนุษย์ที่ต้องมีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ ที่มีสิทธิ เสรีภาพอย่างมนุษย์ที่จะเป็นผู้เสียหายได้เมื่อถูกละเมิดสิทธิ และเมื่อพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ ประชาชนโดยทั่วไปก็เป็นผู้เสียหายในความผิดอาญาแผ่นดินที่ได้กระทำต่อประมุขของรัฐได้ การให้สำนักราชเลขาฯมีอำนาจในการดำเนินคดีกับผู้ที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้แต่เพียงผู้เดียว การห้ามมิให้พระมหากษัตริย์มีพระดำรัสในที่สาธารณะ การให้พระมหากษัตริย์ต้องสาบานตนต่อรัฐสภาจึงเป็นการกระทำที่ไปลิดรอนสิทธิ เสรีภาพและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของพระมหากษัตริย์ ของประชาชนและตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจในการดำเนินคดีอาญาไม่ให้ดำเนินคดีอาญาคือไม่ให้เป็นผู้เสียหาย จึงเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ละเมิดต่อสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของพระมหากษัตริย์และประชาชนที่ห้ามมิให้พระมหากษัตริย์พูดในที่สาธารณะกับประชาชน ละเมิดต่อศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของพระมหากษัตริย์และประชาชนที่ให้พระมหากษัตริย์ต้องสาบานตนต่อนักการเมืองที่เป็นเพียงตัวแทนของประชาชนเท่านั้น การแสดงออกและการกระทำของนิติราษฎร์และคณะเพื่อจะยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 โดยปราศจากหรือขัดต่อหลักเหตุผลในทางวิชาการก็ดี หรือมีข้อมูลที่ไม่ใช่เป็นหลักวิชาการก็ดี การกระทำดังกล่าวของนิติราษฎร์หรือ ครก.112 จึงสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์หรือสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรซึ่งจะไม่ได้รับความคุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่อย่างใด